จีนเป็นแหล่งกำเนิดของต้นชา อีกทั้งเป็นประเทศแรกในโลกที่ผลิตชาและดื่มชา หนังสือที่เกี่ยวข้องกับใบชาและมารยาทการดื่มชาเล่มแรกของโลกคือ “ฉา จิว (Cha Jing) หรือ “ตำราว่าด้วยชา” ซึ่งเป็นฝีมือการเขียนของลู่ อี่ว์ (Lu Yu) นักชิมชาสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ.618-907) ของจีน “ตำราว่าด้วยชา” เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชาไว้อย่างครบถ้วน ทั้งประวัติความเป็นมา กรรมวิธีการผลิต และศิลปะการชงน้ำชา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับการดื่มน้ำชาให้สูงขึ้นมาเป็นการวินิจฉัยความ งามทางวัฒนธรรมที่แสนวิเศษอย่างหนึ่ง และมีส่วนส่งเสริมการพัฒนาของวัฒนธรรมชา ด้วยเหตุนี้ ลู่ อี่ว์ (Lu Yu) ผู้รวบรวมหนังสือเล่มดังกล่าวจึงได้รับการยกย่องเป็น “เทพแห่งชา” หรือ “เมธีแห่งชา” ในประเทศจีน ชาได้รับการยกย่องว่าเป็น “เครื่องดื่มแห่งชาติ” ที่สื่อถึงวัฒนธรรมและศิลปะโบราณของจีน ควบคู่กับพิณ หมากรุก ศิลปะอักษรจีน การเขียนภาพ การแต่งกลอน และการดื่มสุรา ในแต่ละยุคสมัยและแต่ละราชวงศ์ของจีน กาพย์กลอน ภาพเขียนและผลงานดนตรีที่เกี่ยวข้องกับชามีอยู่ให้เห็นเป็นเนืองๆ ส่วนการชิมชาพร้อมกับการแต่งกลอน และการประกวดดื่มชาพร้อมการละเล่นต่างๆ เป็นงานสังคมอย่างหนึ่งที่ปัญญาชนจีนนิยมกันมาก การเจริญเติบโตของต้นชา การเด็ดใบชาและการผลิตชาเป็นสิ่งที่เป็นไปตามฤดูกาล อย่างชาเขียว มักจะออกสู่ตลาดในฤดูใบไม้ผลิ เนื่องจากฤดูกาลนี้อุณหภูมิพอเหมาะพอดี ปริมาณน้ำฝนพอเพียง […]
Tag Archives: ใบชาจีน
สิบสุดยอดชาจีนอันเลื่องชื่อ : ชาแดงฉีเหมิน ชาแดงฉีเหมิน เรียกสั้น ๆ ว่า ชาฉีหง มีแหล่งผลิตอยู่ในแถบตะวันตกเฉียงใต้ของเทือกเขาหวงซาน ในอำเภอฉีเหมิน มณฑลอานฮุย ถือเป็นของล้ำค่าในหมู่ชาแดงด้วยกัน เคยได้รับรางวัลเหรียญทองจากการประกวดในงานนิทรรศการมหกรรมสินค้านานาชาติปานามา แหล่งผลิตชาฉีหงนั้นมีธรรมชาติแวดล้อมที่เป็นเลิศ ภูมิอากาศอบอุ่นชุ่มชื้น ฝนตกชุก จึงเหมาะต่อการเจริญเติบโตของต้นชาเป็นอย่างมาก ชาแดงฉีเหมินมีลักษณะโดดเด่นเฉพาะตัว ใบละเอียดแน่นเป็นเส้นยาว ขนอ่อนสีเหลืองทอง เมื่อชงแล้วจะได้น้ำชาเป็นสีแดงสดใส กลิ่นหอมคงทน คล้ายกับกลิ่นของแอปเปิ้ลผสมดอกกล้วยไม้ โดยในตลาดต่างประเทศได้ให้สมญานามว่า “กลิ่นหอมฉีเหมิน” ถ้าหากดื่มแบบเติมนมและน้ำตาล สีของน้ำชาจะกลายเป็นสีชมพู แต่ความหอมมิได้ลดลง และไม่เพียงแต่เต็มไปด้วยสารอาหารหลากหลายชนิดเท่านั้น ชาฉีหงยังมีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคอีกด้วย ชาแดงฉีเหมินเป็นสินค้าส่งออกอันล้ำค่าของจีนมาแต่โบราณ ประวัติยาวนานจนมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในตลาดต่างประเทศ ชาชนิดนี้ในตลาดต่างประเทศนับว่ามีชื่อเสียงพอ ๆ กับชาดาร์จีลิงของอินเดียและชาซีลอนของศรีลังกา ซึ่งถูกขนานนามให้เป็นสามยอดชาที่มีกลิ่นหอมมากที่สุดของโลก โดยส่งออกไปยังประเทศและพื้นที่ต่าง ๆ กว่า 50 แห่งทั่วโลก อาทิ อังกฤษ สแกนดิเนเวีย เยอรมนี สหรัฐอเมริกา แคนาดา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นต้น
ชาอานซีเถี่ยกวนอินมีแหล่งผลิตอยู่ที่เมืองอานซี มณฑลฝูเจี้ยน เป็นหนึ่งในสิบสุดยอดชาจีนอันเลื่องชื่อ ในพื้นที่อำเภออานซีเต็มไปด้วยหุบเขา อากาศอบอุ่นชุ่มชื้น ปริมาณน้ำฝนพอเพียง ระบบนิเวศน์เหมาะแก่การเพาะปลูกชาเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น ต้นชาจึงเจริญงอกงามดีและมีชาหลากหลายสายพันธุ์ ชาอานซีเถี่ยกวนอินมีประวัติความเป็นมายาวนาน ได้รับสมญานามว่าเป็นราชาแห่งชา น้ำชาเป็นสีเหลืองทอง รสชาติหวานบริสุทธิ์ หวานหอมกรุ่นติดลิ้น ชงถึงเจ็ดครั้งก็ยังคงได้กลิ่นหอม จัดว่าเป็นชาชั้นเยี่ยมในบรรดาชาอูหลงของจีน
สิบสุดยอดชาจีนอันเลื่องชื่อ : ชาอู่อี๋เหยียน ชาอู่อี๋เหยียนเป็นสินค้าที่ขึ้นชื่อที่สุดของเมืองอู่อี๋ซาน จัดว่าเป็นชาชั้นเยี่ยมในบรรดาชาอูหลงของจีน และจัดเป็นหนึ่งในสิบสุดยอดชาจีนอันเลื่องชื่อ จากการที่วัฒนธรรมในการดื่มชาได้เผยแพร่อย่างไม่หยุดหย่อน การส่งออกใบชาอู่อี๋เหยียนก็มีปริมาณมากขึ้นตามไปด้วย โดยได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากประเทศในแถบยุโรปและอเมริกา เมื่อย่างเข้าในช่วง พ.ศ 2523 ชาอู่อี๋เหยียนยิ่งกลายเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ มีการส่งไปจำหน่ายยังทวีปยุโรป อเมริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งได้รับการกล่าวขวัญถึงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระแสความนิยมในแดนอาทิตย์อุทัยที่มองว่าเป็นชาที่เสริมความงามและสุขภาพ จึงดึงดูดความสนใจจากสาวงามได้เป็นจำนวนไม่น้อย ชาอู่อี๋เหยียนได้รับการยกย่องมาแต่โบราณ โดยสืบเสาะไปได้จนถึงสมัยราชวงศ์ใต้ แต่ตามบันทึกลายลักษณ์อักษรที่เก่าแก่ที่สุดพบว่า มีการจารึกไว้ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถังจนถึงราชวงศ์หยวน ในสมัยราชวงศ์ซ่ง ชาอู่อี๋เหยียนถูกกำหนดให้เป็นชาที่ใช้ในราชพิธี และได้กลายมาเป็นชาบรรณาการในที่สุด