เมื่ออากาศเย็นลง จนทำใครหลายคนรู้สึกหนาวและอาจป่วยไข้ไม่สบายเพราะอากาศเปลี่ยนแปลง ระยะนี้จึงต้องใส่ใจดูแลสุขภาพกันเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเรื่องการดื่มน้ำ ที่ไม่ว่าจะฤดูไหน ก็ต้องดื่มน้ำให้เพียงพอ
สำหรับน้ำที่ดื่ม ไม่ควรเย็นจี๋ เพราะทำให้เส้นเลือดที่อยู่ในระบบทางเดินอาหารหดตัวลง หากเป็นเช่นนั้นเซลล์จะปรับตัวและขยายตัวเพื่อดูดซึม ต้องใช้เวลานานพอสมควรในการปรับอุณหภูมิก่อนดูดซึม จึงมักเกิดอาการจุกหน้าอกขณะกระหายน้ำ
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัย ชี้ว่า การดื่มน้ำเย็นจัดมากเกินไปจะทำให้ขีดความสามารถในการทำงานของสมองลดลงทันที ส่งผลกระทบต่อการขับรถ หรือทำงานที่ต้องใช้สมอง ซึ่งน้ำเย็นจัดเพียงแค่แก้วเดียว ยังทำให้สภาพจิตใจของบางคนลดลงร้อยละ15
ส่วนการดื่มน้ำร้อนจัดก็ไม่ควร เพราะความร้อนของน้ำอาจทำลายเยื่อบุช่องปากและทางเดินอาหาร จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรค
การดื่มน้ำที่ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ควรเป็นน้ำที่มีอุณหภูมิใกล้เคียงหรือต่ำกว่าอุณหภูมิร่างการเล็กน้อย เช่น น้ำอุณหภูมิห้อง หรือน้ำที่มีอุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส ร่างกายจะดูดซึมไปใช้ในระบบหมุนเวียนเลือดได้ทันที
โดยเฉพาะในหน้าหนาว ช่วงเวลาที่ควรดื่มน้ำ นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แนะนำไว้ 3 ช่วงด้วยกัน ประกอบด้วย แก้วแรกของวัน ดื่มระหว่าง 05.00-07.00 น. จะช่วยการขับถ่าย ช่วงต่อไป คือ 15.00-17.00น. จะช่วยล้างกระเพาะปัสสาวะ และแก้วสุดท้ายของวัน ดื่มก่อนเข้านอน 1 ชั่วโมง ช่วยการนอนหลับที่ดี
ในแต่ละวัน ปริมาณน้ำดื่มที่ร่างกายต้องการของแต่ละคนนั้นแตกต่างกันไปตามน้ำหนักตัว ซึ่งมีวิธีคำนวณง่ายๆ ในสูตร น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) หาญด้วย 2 แล้วคูณด้วย 2.2 และคูณด้วย 30 จะได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นปริมาณน้ำหน่วย c.c. ที่ควรดื่มในแต่ละวันนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม การดื่มน้ำ ไม่ควรดื่มคราวละมากๆ เพราะจะทำให้รู้สึกปวดปัสสาวะบ่อย โดยควรดื่มแบบค่อยๆ จิบ เซลล์ในร่างกายจะดึงน้ำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์