มังกร เป็นคำเรียกในภาษาไทยของคำว่า Dragon หรือคำว่า龙( หลง ) ในภาษาจีน ซึ่งมีความพยายามทำการศึกษา ค้นคว้าต่าง ๆ ว่า มังกร แท้จริงแล้ว เคยมีอยู่จริงหรือไม่ และมีถิ่นกำเนิดเริ่มต้นมาจากที่ ไหนกัน แน่ เพราะในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ในหลายประเทศ ต่างก็มีเรื่องราวเกี่ยวกับมังกรในประเทศของตน ซึ่งถ้าหากจะนำเสนอเรื่องราวของมังกรในพื้นที่ของคอลัมป์นี้ รับรอง ได้เลยว่า เขียนต่อเนื่องได้เป็นปีเลยทีเดียว แต่เอาเป็นว่า มีบางมุม บางเรื่องของมังกรที่น่าสนใจ และอยากจะนำเสนอต่อผู้ที่ต้องการอยากรู้จักมังกรให้มากขึ้น จึงขอนำเสนอเรื่องราวของ 龙生九子 ( หลง เซิง จิ๋ว จื่อ ) หรือแปลเป็นภาษาไทยง่าย ๆ ว่า “ มังกรให้กำเนิดลูกเก้าตัว”
มังกรตัวที่ 1 หรือองค์ชายใหญ่ 赑屃 bixi ภาษาจีนกลางเรียกว่า “ ปี้ซี่”
ปี้ซี่ เป็นลูกมังกรตัวแรก หรือเป็นองค์ชายใหญ่ มีลักษณะห้าวหาญ ทรงพลัง รูปลักษณ์ภายนอกคล้ายเต่า มีความสามารถแบกรับน้ำหนักได้ดี ปี้ซี่ มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ สือกุยหลง ” ลักษณะลำตัวเป็นเต่า หัวเป็นมังกร ตามความเชื่อของจีนแล้ว “เต่า” เป็นสัญลักษณ์แห่งการมีอายุยืน ปี้ซี่ ก็ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งการมีอายุยืนและเป็นสัญลักษณ์แห่งความสิริมงคล ในทางสถาปัตยกรรม นิยมนำรูปแบบของปี้ซี่มาเป็นฐานรองป้ายหินจารึก ป้ายหินสดุดี ที่เขียนโดยกษัตริย์ ซึ่งเป็นศิลปะตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิงเป็นต้นมา
มังกรตัวที่ 2 หรือองค์ชายรอง 螭吻chiwen ภาษาจีนกลางเรียกว่า “ ชือเหวิ่น ”
ชือเหเป็นลูกมังกรตัวที่ สอง ลักษณะภายนอก หัวเป็นมังกร ปากกว้าง ลำตัวสั้น มีลักษณะนิสัยชอบมองทิวทัศน์ และชอบกลืนกินสิ่งของต่าง ๆ กล่าวกันว่ามีความสามารถในการดับไฟ ชอบกลืนกินไฟ ดังนั้นในทางสถาปัตยกรรมในอดีต จึงนิยมนำมาประดับที่จั่วหลังคาทั้งสองด้าน ของพระราชวัง หรือพระอารามหลวง เพื่อเป็นเคล็ดในการป้องกันไฟไหม้
มังกรตัวที่ 3 หรือองค์ชายสาม 蒲牢 pulao ภาษาจีนกลางเรียกว่า “ ผู๋เหลา ”
ผู๋เหล๋า เป็นลูกมังกรตัวที่ สาม มีลักษณะนิสัยชอบร้องเสียงดังกังวาน กล่าวกันว่า ผู๋เหล๋า กลัวปลาวาฬ เป็นอย่างมาก ทุกครั้งที่ผู๋เหล๋า เป็นปลาวาฬ ก็จะคำรามเสียงดังกังวาน เพื่อ ไล่ปลาวาฬ ดังนั้นเองจึงนิยมนำรูปแบบของผู๋เหล๋า มาเป็นหูระฆัง เพื่อให้เสียงของระฆังดังกังวานไปไกล ว่ากันว่าในสมัยราชวงศ์หมิง มีพิธีทางศาสนาครั้งใหญ่ โดยได้เคาะระฆังของวัด เป้ากั๋ว เวลาตีหนึ่งสิบห้านาที สามารถส่งเสียงดังกังวานได้ไกลถึง 30 ลี้ หรือราว ๆ 5 กิโลเมตร
มังกรตัวที่ 4 หรือองค์ชายสี่ 狴犴bian ภาษาจีนกลางเรียกว่า “ ปี้อั้น ”
ปี้อั้น เป็นลูกมังกรตัวที่ สี่ มีรูปลักษณ์ภายนอกคล้ายเสือ กล่าวกันว่า ปี้อันมีนิสัยชอบออกมาพูดเพื่อความเป็นธรรม ชี้ขาดด้วยความเป็นธรรม ในสมัยโบราณใช้เป็นสัญลักษณ์ติดอยู่ที่ประตูคุก หรือที่คานด้านนอกประตูของห้องโถงพิจารณาคดีของศาล เพื่อให้คนที่มองเห็นเกิดความเกรงขาม
มังกรตัวที่ 5 หรือองค์ชายห้า 饕餮taotie ภาษาจีนกลางเรียกว่า “ เทาเที่ย ”
เทาเที่ย เป็นลูกของมังกรตัวที่ ห้า มีรูปลักษณะภายนอกที่ดุร้าย ตาโต ปากกว้าง มีความโลภในทรัพย์สิน ในสมัยโบราณนิยมทำลวดลายส่วนหัวของ เทาเที่ย ลงบนเครื่องสัมฤทธิ์ โดยเฉพาะเครื่องสัมฤทธิ์ที่เกี่ยวกับภาชนะดื่ม กิน เพื่อเป็นเคล็ดเตือนใจให้กับผู้ที่ใช้เครื่องสัมฤทธิ์ ไม่โลภในทรัพย์สิน ไม่คดโกง ทั้งนี้เนื่องจากในสมัยโบราณ บุคคลที่นิยมใช้เครื่องทองสัมฤทธิ์ ส่วนมากมักจะเป็นขุนนาง และผู้ที่มีฐานะทางสังคม
มังกรตัวที่ 6 หรือองค์ชายหก 蚣蝮gongfu ภาษาจีนกลางเรียกว่า “ กงฟู่ ”
กงฟู่ เป็นลูกของมังกรตัวที่ หก มีลักษณะนิสัยที่ชอบน้ำเป็นอย่างมาก ในทางสถาปัตยกรรมนิยมนำมาทำเป็นปลายท่อระบายน้ำ เช่นที่พระราชวังโบราณกู้กง ปักกิ่ง บริเวณฐานยกระดับของตำหนักว่าราชการโดยรอบ จะมีท่อระบายน้ำโดยรอบ และปลายท่อจะเป็นหัวมังกร จึงเป็นที่มาของคำว่า “ สุ่ยหลงโถว” ( 水龙头) ถ้าแปลตามตัวอักษรจีนก็แปลว่า “ หัวมังกรน้ำ” หรือแปลเป็นภาษาไทยว่า “ ก๊อกน้ำ ” นั่นเอง
มังกรตัวที่ 7 หรือองค์ชายเจ็ด 睚眦yazi ภาษาจีนกลางเรียกว่า “ หย๋าจื้อ ”
หย๋าจือ เป็นลูกของมังกรตัวที่ เจ็ด มีลักษณะนิสัยดุร้าย โกรธง่าย มีรัศมีแห่งการสังหาร ในสมัยโบราณ นิยมนำมาทำเป็นด้ามอาวุธ หรือลวดลายเป็นอาวุธ เพื่อให้ผู้ใช้อาวุธมีความฮึกเหิม เป็นการเพิ่มพลังใจ และสร้างความกล้าหาญให้กับผู้ใช้อาวุธ
มังกรตัวที่ 8 หรือองค์ชายแปด 狻猊suanni ภาษาจีนกลางเรียกว่า “ ซวนหนี ”
ซวนหนี เป็นลูกของมังกรตัวที่ แปด มีรูปลักษณะภายนอกคล้ายสิงห์โต มีนิสัยชอบอยู่นิ่ง ไม่เคลื่อนไหว ชอบนั่งมองดูควันไฟ และ เปลวไฟ ดังนั้นเองในสมัยโบราณจึงนิยมนำรูปซวนหนีมาประดับที่กระถางธูป หรือกระถางเผาไม้หอม
มังกรตัวที่ 9 หรือองค์ชายเก้า 椒图 jiaotu ภาษาจีนกลางเรียกว่า “ เจียวถู ”
เจียวถู เป็นลูกของมังกรตัวที่ เก้า มีลักษณะนิสัยปิดตัวเอง ไม่ชอบให้ใครเข้ามาในถ้ำที่อยู่อาศัยของตน นิยมนำเจียวถูมาติดไว้ที่ประตูบ้าน ประตูซอย ( สมัยก่อนตามซอกซอยจะมีซุ้มประตู ) เพื่อป้องกันภัยอันตราย หรือสิ่งที่ไม่เป็นมงคลต่าง ๆ ไม่ให้เข้ามาภายในบ้าน